
เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าเผย 100 ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ระดับโลกร่วมลงชื่อ กระตุ้น WHO เปลี่ยนจุดยืนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลกกว่า 100 รายร่วมกันลงชื่อในจดหมายที่ส่งไปยัง WHO เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขจุดยืนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ไทยยังคงปฏิเสธทางเลือกของผู้สูบบุหรี่ด้วยอคติและการไม่ยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ พร้อมเรียกร้องไทยสร้างความโปร่งใสในการพิจารณานโยบายเกี่ยวกับยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” นำโดยนายอาสา ศาลิคุปต และนายมาริษ กรัณยวัฒน์ สองแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยว่า “ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนานโยบายเกี่ยวกับยาสูบกว่า 100 คน กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ยังคงมองข้ามศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ WHO สนับสนุนและรวมเอาหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) เข้าไปไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบด้วย”
ในจดหมายที่ 100 ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันลงชื่อ เผยว่ามีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3.4 ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อของประชากรโลก นอกจากนี้ ในจดหมายยังได้ ระบุข้อเรียกร้อง 6 ประการ ได้แก่ 1) ให้ WHO และประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวทางการลดอันตราย 2) การพิจารณานโยบายของ WHO ต้องมีความครอบคลุมเหมาะสม ทั้งกับผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และการป้องกันเยาวชนจากความเสี่ยงในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า 3) การจะแบนบุหรี่ไฟฟ้าต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างไม่ตั้งใจด้วย 4) ใช้มาตรา 5.3 ของ FCTC อย่างเหมาะสม 5) การประชุม FCTC ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อสร้างความโปร่งใส และ 6) ริเริ่มการทบทวนอย่างเป็นอิสระต่อแนวทางของ WHO และ FCTC
นายอาสากล่าวว่า “การแบนบุหรี่ไฟฟ้าตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการควบคุมยาสูบ การปฏิเสธนวัตกรรม และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค จนทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังคงได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ต่อไป พอมีใครเสนอให้พิจารณาหาทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ กลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในประเทศไทยมักจะอ้าง WHO โดยไม่พิจารณาว่าหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำของโลก เช่น สาธารณสุขอังกฤษ สาธารณสุขนิวแลนด์ ยูเอสเอฟดีเอ ต่างก็มีจุดยืนที่ส่งเสริมการลดอันตรายและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่เพื่อลดอันตรายให้กับผู้ที่จะสูบบุหรี่ต่อไป ในขณะที่ป้องกันการเข้าถึงของเด็กเยาวชนควบคู่กัน”
จดหมายฉบับดังกล่าวทำขึ้นก่อนการจัดการประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 9 (FCTC COP9) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและรัฐบาลของหลายๆ ประเทศเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายน และอาจจะมีการพิจารณามาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงในการประชุมครั้งนี้
ด้านนายมาริษเสริมว่า “ผู้แทนจากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุม FCTC COP9 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการกำหนดอนาคตของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุมนี้จะมีผลกระทบต่อผู้สูบบุหรี่ 1 พันล้านคนทั่วโลกรวมถึงผู้สูบบุหรี่และยาเส้นในเมืองไทยกว่า 9.9 ล้านคน สุขภาพของผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า และผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันที่ควรจะมีสิทธิเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย”
“สำหรับประเทศไทย ไม่มีข้อมูลว่าใครจะเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม ไม่มีใครรู้ว่าจุดยืนของไทยเป็นอย่างไร ไม่มีการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบหรือ และประเทศไทยจะไปตกลงอะไรในเวทีการประชุมนี้ยังคงเป็นคำถามที่มีมีใครทราบเพราะกระบวนการนี้ถูกเก็บเป็นความลับ ประชาชนและสื่อมวลชนถูกกีดกันออกจากกระบวนการและการประชุมที่มาจากภาษีประชาชน เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข สร้างความโปร่งใสในการเข้าประชุมครั้งนี้และมีการกำหนดท่าทีของประเทศไทยโดยการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนเข้าร่วมการประชุม”
More Stories
ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดตัวแคมเปญ Hob Card เพื่อตอบโจทย์คนเดินทาง ในงาน Job ExpoThailand 2023 ภายใต้งาน “คนไทยมีงานทำ คนหางาน งานหาคน พร้อมเปิดรับพนักงานมากกว่า 3,000 อัตรา
อีอีซี จับมือไอคอนสยาม สนับสนุนสินค้าพรี่เมี่ยมท้องถิ่นยกระดับสู่ตลาดสากล บอกเล่าเรื่องราวอัตลักษณ์ชุมชน สร้างรายได้ให้คน อีอีซีอย่างยั่งยืน
บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ต่อการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้